ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์

19 ตุลาคม 2559

สึนามิ 26 ธันวาคม 2547



  คลื่นยักษ์สึนามิ  

ความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทย  


     
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดคลื่นสึนามิครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้คนเสียชีวิตถึงประมาณ 220,000 คน นับเป็นภัยทางธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 ของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้ โดยภัยธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 เกิดจากพายุไซโคลนที่พัดผ่านประเทศบังกลาเทศ เมื่อ พ.ศ. 2513 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000 คน


           

                           รูปที่ 1 แสดงศูนย์กลางของการเกิดสึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547                            
ที่มา http://www.nectec.or.th/users/htk/20041226-quake/20041226-complete-1D-wave.jpg 



       คลื่นสึนามิดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นที่จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย แล้วเคลื่อนตัวแผ่ขยายไปทั่วทะเลอันดามัน จนถึงชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย และเกาะศรีลังกา บางส่วนของคลื่นยังเคลื่อนตัวไปถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาด้วย รวมประเทศที่ประสบภัยจากคลื่นสึนามิ และมีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น 11 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เมียนมาร์ อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ โซมาเลีย แทนซาเนีย และเคนยา
        ในกรณีของประเทศไทย พิบัติภัยจากคลื่นสึนามิได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แก่ประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพราะมีการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากใน 6 จังหวัดภาคใต้ ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุด




รูปที่ 2 แผนที่แสดงจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสึนาม
                               ที่มา http://www.gisthai.org/research/tsunamis/index_map.gif                                  


        1) ลำดับเหตุการณ์ของการเกิดคลื่นสึนามิ  26 ธันวาคม  พ.ศ. 2547  

          -   เวลา 07:59 น. ตามเวลาในประเทศไทย ได้เกิดแผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณนอกฝั่งด้านตะวันตก ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ลึกลงไปในแผ่นดินประมาณ 30 กิโลเมตร มีขนาดความรุนแรง 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ นับเป็นแผ่นดินไหว ครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามัน และรุนแรงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา



               ลำดับการเคลื่อนตัวของคลื่นสึนามิ
               1.  ไปยังชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา 
               2.  ไปยังตอนเหนือของมาเลเซีย  ตอนใต้ของไทย
               3.  ชายฝั่งประเทศพม่าและบังคลาเทศ
               4.  ผ่านหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ (อินเดีย)
               5.  ชายฝั่งของรัฐทมิฬนาฑู (อินเดีย)
               6.  ศรีลังกาและผ่านมหาสมุทรอินเดียไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์
               7.  ชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา

          -  หลังจากเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน ได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือสุดของเกาะสุมาตรา ในจังหวัดอาเจะห์ ความสูงและความรุนแรงของคลื่นทำให้เมือง และชุมชนตามชายฝั่งถูกทำลายอย่างกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดมากกว่า 150,000 คน นับเป็นการสูญเสียชีวิตของผู้คนจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุด ในประเทศอินโดนีเซีย
          -   เวลาประมาณ 10:00 น. คลื่นสึนามิได้เริ่มเคลื่อนตัวมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 500 - 600 กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหาย ในบริเวณชายฝั่งตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย มีผู้เสียชีวิตที่เกาะปีนัง ในประเทศมาเลเซีย ประมาณ 70 คน และใน 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ จังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง รวมกัน ประมาณ 5,400 คน
          -    คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งเคลื่อนตัวต่อขึ้นไปทางเหนือจนถึงชายฝั่งของประเทศพม่า และประเทศบังกลาเทศ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 1,500 – 1,700 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตที่บริเวณปากแม่น้ำอิรวดี ของประเทศพม่า ประมาณ 60 คน
          -    คลื่นสึนามิส่วนที่เคลื่อนตัวจากเกาะสุ-มาตรามุ่งไปทางตะวันตก เคลื่อนที่ผ่านหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศอินเดียกลางทะเลอันดามัน ต่อไปถึงชายฝั่งของรัฐทมิฬนาฑู และทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตที่หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ประมาณ 900 คน และที่รัฐทมิฬนาฑู ประมาณ 8,000 คน
          -    ส่วนในประเทศศรีลังกา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 40,000 คน คลื่นสึนามิได้เคลื่อนตัวผ่านมหาสมุทรอินเดียไปถึงหมู่เกาะมัลดีฟส์ ได้รับความเสียหายมาก มีรายงานผู้เสียชีวิตประมาณ 82 คน
          -   คลื่นสึนามิส่วนหนึ่งยังคงเคลื่อนตัวต่อไปจนถึงชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แม้จะอ่อนกำลังบ้างแล้ว มีผู้เสียชีวิตที่ประเทศโซมาเลีย ประมาณ 300 คน และที่ประเทศเคนยา 1 คน



รูปที่ 3 แสดงแผ่นเปลือกโลกอินเดียเลื่อนตัวมาทางทิศตะวันออก
และมุดลงใต้ขอบ
แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย 
 ที่มา http://www.geothai.net/wp-content/uploads/2012/05/GeoThai
_media_Sumatra-BigEQ.png

       นักธรณีวิทยาให้ความเห็นว่า คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในทะเลอันดามันครั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก แผ่นเปลือกโลกอินเดีย ขยับตัวเลื่อนมาทางทิศตะวันออก และมุดลงใต้ขอบแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยต่อ ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยเลื่อน (fault) ขนาดใหญ่เป็นแนวยาว ตั้งแต่ทางตะวันออกของพม่า และตะวันตกของไทย ลงไปตามแนวของหมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ จนถึงทางเหนือของเกาะสุ-มาตรา และเนื่องจากแผ่นดินไหวมีความรุนแรงมากถึงระดับ 9.0 ตามมาตราริกเตอร์ จึงเกิดเป็นคลื่นสึนามิ

       

         2)  ขั้นตอนการเอาตัวรอดจากสึนามิ                 1. ควรศึกษาหาข้อมูล เกี่ยวกับอันตรายที่มาจากสึนามิไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงจะเกิดสึนามิ เช่น บ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงานอยู่ติดกับชายฝั่งทะเล                                                                                       

       2. มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า หากข้อมูลที่ค้นหา บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณที่คุณอาศัย มีความเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิขึ้นได้ เตรียมอุปกรณ์เอาตัวรอดไว้ เช่น อาหาร น้ำ ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เตรียมไว้ในที่ซึ่งสามารถหยิบใช้ได้ง่าย 


       3. มีการพัฒนาแผนการเอาตัวรอดจากสึนามิ ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น

       4. ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางการวางแผนในการอพยพ ดำเนินการฝึกซ้อมตามแผนการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสมาชิกในชุมชนมีความเข้าใจแผนการที่ตรงกัน รวมทั้งแนวทางการช่วยเหลือคนป่วย และคนพิการได้ 

       5. ตรวจสอบสัญญาณการเตือนภัยอยู่เสมอ และมีการแจกคู่มือ ในชุมชน ฝึกตัวเองให้เป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบข้างอยู่เสมอ เช่น การลดลงของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว เป็นสัญญาณเตือนภัยว่ากำลังจะมีคลื่นสึนามิตามมา 

       6. ใส่ใจต่อคำเตือนของชุมชน และหน่วยงานภาครัฐที่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า พร้อมกับเตรียมอพยพตามแผนการของชุมชนที่เตรียมไว้ การปฏิบัติ รีบออกห่างจากบริเวณชายฝั่งให้เร็วที่สุด และหนีขึ้นที่สูง เช่นภูเขาสูง ให้พยายามมองหาที่สูงและต้องมีความแข็งแรงคงทน เช่น บ้าน อาคาร เท่าที่จะสามารถทำได้

       7. ในกรณีที่ไม่สามารถทำตามวิธีที่แนะนำเบื้องต้นได้แล้ว ทางเลือกที่ดีที่สุดคือมองหาต้นไม้ที่สูงและมีความแข็งแรงต้องปีนขึ้นไปให้สูงที่สุด หากพบว่าตัวเองหนีไม่ทันและกำลังจะจมน้ำให้มองหาสิ่งที่สามารถลอยน้ำได้และเกาะไว้ให้แน่น 

       8. เมื่อได้รับทราบการแจ้งเตือน หยิบเฉพาะชุดอุปกรณ์ที่เตรียมไว้เท่านั้น ให้จำไว้เสมอว่า ชีวิตมีค่าที่สุด อยู่ในที่ปลอดภัยจนกว่าจะแน่ใจว่าทุกอย่างสงบแล้ว 

       9. อย่าเชื่อคำพูดปากต่อปาก รอฟังประกาศจากหน่วยงานท้องถิ่น และภาครัฐเท่านั้น



รูปที่ 4 หอกระจายข่าว
ที่มา  http://img.tnews.co.th/large/tnews_1432881086_5931.jpg



รูปที่ 5 ทุ่นลอยน้ำเตือนภัยสึนามิ
ที่มา  http://paipibat.com/wp-content/uploads/234012.jpg


ดังนั้น แผนการรับมือกับสึนามิ ต้องมีการวางแผนการช่วยเหลือหลังเกิดสึนามิไว้ล่วงหน้าด้วย เช่น จัดให้มีแหล่งน้ำจืดยามฉุกเฉินไว้ไม่ว่าจะเป็นน้ำขวดหรือน้ำประปา ใช้อาคารและบ้านเรือนที่ไม่ได้รับความเสียหายเป็นสถานที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัย เตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ใช้ยามฉุกเฉินเพื่อใช้เป็นปัจจัยพื้นฐานได้มีแผนเตรียมการฉุกเฉินในด้านการแจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้ประสบภัย




                   3)  การดำเนินงานด้านการแพทย์
และการ สาธารณสุข

                               (1) การดำเนินการในช่วงก่อนเกิดเหตุ   แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีแผนเตรียมความพร้อม ด้านการแพทย์ และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน จัดทำไว้ปี 2543 แต่ก็พบว่า การซ้อมแผนเต็มรูปแบบน้อยมาก นอกจากนี้ยังพบว่าผลจากการปฏิรูปโครงสร้าง ของกระทรวงสาธารณสุขครั้งล่าสุด ทำให้ไม่มีหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่จะรับผิดชอบในการดำเนินงานอย่างชัดเจน เมื่อเกิด ต้องอาศัยการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง และระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ อีกทั้งยังไม่เคยมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่รองรับการอพยพและระบบการช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย และระบายผู้บาดเจ็บ และศพผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนมากเช่นนี้มาก่อน จึงทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ



รูปที่ 6 ป้ายคำเตือนพื้นที่เสี่ยง

                                         (2)  การดำเนินงานในระยะวิกฤติ (48 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ)
            เป็นระยะที่มีผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก   สถานพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุจะต้องรับภาระในการปฐมพยาบาล  ผ่าตัดเล็ก  ผ่าตัดใหญ่ สถานพยาบาล เริ่มมีปัญหา จากจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก และผู้ให้บริการรักษาพยาบาลมีความเหนื่อยล้า    
ความรวดเร็วของทีมงาน EMS (Emergency Medical Service) ที่เดินทางไปให้บริการฉุกเฉินได้ภายในเวลาไม่เกิน 6  ชั่วโมงหลังเกิดเหตุส่วนกลางมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้พำนัก  และเปิดเป็นศูนย์ประสานงาน เพื่อช่วยเหลือติดตาม และให้ข่าวสารข้อมูลผู้ประสบภัยที่กรุงเทพฯ  ประเมินสถานการณ์ให้ได้คาดการณ์สถานการณ์  ที่จะเกิดขึ้น และส่งต่อข้อมูลให้ผู้มีอำนาจสั่งการ     วางแผน  และ ประสานงาน


รูปที่ 7  แสดงความวุ่นวายขณะเกิดภัยพิบัติ
  ที่มา  http://www.ohochill.com/wp-content/uploads/2015/12/936302-img.rm04dg.4wahs.jpg

                              (3)  การดำเนินการระยะหลังวิกฤติ (2 วัน ถึง 7 วัน หลังเกิดเหตุ)
          ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม และมีระดับการให้บริการเฉพาะด้านที่จำเป็นต่อผู้ประสบเหตุ      เริ่มเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง    สึนามิในครั้งนี้  ทำให้ต้องเรียนรู้และสรุปบทเรียน  ระบบการจัดการกับศพที่ดี  ด้วยวิธีการและมาตรฐาน   ที่เป็นที่ยอมรับได้ ในระดับสากล    โดยเฉพาะเมื่อมีการอพยพประชาชนมาอยู่อาศัยร่วมกันจำนวนมากตามศูนย์อพยพที่พักพิงชั่วคราว    
ช่วยเหลือสนับสนุนและอำนวยการให้มีน้ำดื่ม   น้ำใช้ที่สะอาด  และระบบการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมถึงการมีทีมเฝ้าระวังโรค ระบาดวิทยา และจัดให้มีหน่วยปฏิบัติการพิเศษ    เพื่อให้การช่วยเหลือสนับสนุนและประสานงาน   ช่วยแก้ไขปัญหา และเฝ้าเตือน ให้มีการตระหนักในความสำคัญของการรักษาความสะอาดและสุขลักษณะอยู่เสมอ





ภาพที่ 8,9,10 แสดงการจัดการจัดการศพผู้เสียชีวิต
                       ที่มา  http://www.ohochill.com/wp-content/uploads/2015/12/936302-img.rm04dg.bo9h3.jpg


                               (4)  ระยะฟื้นฟูบูรณะ (8 วัน ถึง 3 เดือน หลังเกิดเหตุ)        
ลักษณะการดำเนินงานทั่วไป     ยังคงเป็น    การให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้บาดเจ็บรุนแรงอย่างต่อเนื่อง   งานส่วนใหญ่ที่เป็นภาระคือการตรวจพิสูจน์ศพและการส่งมอบศพ  ให้ญาติมารับไปดำเนินการทางศาสนา  และเฝ้าระวังโรค  และจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม  เช่น  เรื่องน้ำดื่ม  น้ำใช้  ส้วม  การสูบล้างบ่อน้ำ และคัดแยก เก็บขยะมูลฝอย  จัดการกับยา  และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ได้รับบริจาค เพื่อนำมาใช้งาน ต่อไป 

รูปที่ 11 การขุดหลุมฝังร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ
http://www.ohochill.com/wp-content/uploads/2015/12/936302-img.rm04dg.jk47n.jpg




รูปที่ 12 ภาพแสดงการเก็บกวาดพื้นที่ประสบภัย
ที่มา  http://www.ohochill.com/wp-content/uploads/2015/12/936302-img.rm04dg.8aert.jpg




   4)  ความเสียหาย


แผนภูมิแสดง  จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิครั้งนี้


ความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน

        ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2548 มีจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย ในประเทศไทย มีจำนวนทั้งหมด 5,309 คน ผู้สูญหายจำนวนทั้งหมด 3,370 คน ในรายงานของกระทรวงมหาดไทยที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2548  

  ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด มีแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหายมาก จำนวน 8 แห่ง  เช่น  เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา, หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต, และเกาะพีพีจังหวัดกระบี่




รูปที่ 13 ภาพแสดงพื้นที่ประสบภัยหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ
 ที่มาhttp://cms.toptenthailand.net/file/picture/20160419145437181/20160419145437181.jpg




5)  ความสูญเสียแห่งราชวงศ์จักรี



               
เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังทำให้ คุณพุ่ม เจนเซน พระราชนัดดาใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโอรสใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ถึงแก่อนิจกรรมขณะที่เล่นเจ็ตสกีอยู่ที่ชายหาดโรงแรมมันดะเลย์รีสอร์ต บ้านเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยได้พบศพเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ข้างแท็งก์น้ำหลังโรงแรมลาฟลอร่า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ห่างจากสถานที่ที่คุณพุ่มเล่นเจ็ตสกี 100 เมตร เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้องครักษ์ 4 คน และมนุษย์กบที่ถวายการอารักขาหายไป 2 คน ในส่วนพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีทรงปลอดภัยดีส่วนคุณสิริกิติยา เจนเซนนั้นบาดเจ็บที่ขา

สองพระหัตถ์พระราชบิดาซับน้ำตา
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ


การจากไปของคุณพุ่ม ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ หัวใจแทบสลาย  คุณพุ่ม เจนเซน ถึงแก่อนิจกรรมจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติสึนามิ ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา  ด้วยวัยเพียง 21 ปี 4 เดือน 10 วัน
เมื่อวันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ.2548 เป็นวันพระราชทานเพลิงศพคุณพุ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ คุณพุ่ม เจนเซน ภ.ป.ร.1 ที่วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ซึ่งพิธีดังกล่าวได้จัดขึ้นอย่างสมเกียรติ
ในวันงานพระราชทานเพลิงศพคุณพุ่ม แม้เห็นอยู่หลายคราที่ทูลกระหม่อมหญิงทรงมีพระเนตรแดงกร่ำ แต่พระองค์ไม่ทรงร่ำไห้ให้ใครเห็น พระองค์ยังทรงยิ้มทักทายและขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งเวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดเทพศิรินทราวาส พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงรอรับเสด็จพร้อมคุณพลอยไพริน และ คุณสิริกิติยา เจนเซน อยู่บริเวณหน้าวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาถึง ทั้งสองพระองค์ทรงสวมกอดทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ

รูปที่  15  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสวมกอด
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ  สิริวัฒนาพรรณวดี

ที่มา  https://www.facebook.com/230843956979991/photos/a.329549827109
403.85659.2308
43956979991/732698570127858/?type=3&theater

ในช่วงเวลาที่ทั้งสองพระองค์ประทับพระราชอาสน์ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เข้าเฝ้าฯ พระราชบิดา พระราชมารดา ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทูลกระหม่อมหญิงในลักษณะปลอบโยน เพียงไม่นานทูลกระหม่อมก็ทรงกรรแสงต่อหน้าพระพักตร์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจับพระอังสา ทรงประคองพระพักตร์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ พระองค์ทอดพระเนตรพระธิดาด้วยสายพระเนตรแห่งความห่วงใย
ณ เวลานั้น ข้าราชบริพารซึ่งอยู่ใกล้ชิดเห็นน้ำพระเนตรของทูลกระหม่อมหญิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจับพระหัตถ์ทูลกระหม่อมหญิงขึ้นมาประสานกับพระหัตถ์ของพระองค์ พร้อมทรงบีบให้พระหัตถ์แนบกัน พระองค์ทรงทำในลักษณะนั้นอยู่นานพอสมควร และทรงจุมพิตพระนลาฏของทูลกระหม่อม

รูปที่  16  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประคองพระพักตร์
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ  

ที่มา  https://pbs.twimg.com/media/BebRG0sCUAA6lvz.jpg

ทูลกระหม่อมหญิงทรงเช็ดน้ำพระเนตร แล้วทรงยิ้มกับทั้งสองพระองค์ จากนั้นทรงลุกขึ้นกราบที่พระอุระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงสวมกอดทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ
ในห้วงเวลาดังกล่าว พสกนิกรที่มาร่วมพระราชพิธีต่างรู้สึกซาบซึ้ง ภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลอบทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ยิ่งนัก
ภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้าประจักษ์แล้วว่า สองพระหัตถ์ของพระราชบิดา พระราชมารดาเป็นพลังใจสำคัญอย่างยิ่งของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ

แม้ในหนังสือที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพ "คุณพุ่ม เจนเซน" ตอนหนึ่ง ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ จะทรงเขียนไว้ว่า 

แม่ไม่มีกำลังใจที่อยากมีชีวิตอยู่ 



แต่ ณ เวลานั้น ภาพที่พสกนิกรชาวไทยได้เห็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คงเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ทูลกระหม่อมหญิงเข้มแข็งและมีพลังที่จะทำงานเพื่อคุณพุ่ม ทำงานเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส ช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้และพร้อมจะช่วยเหลือบุคคลผู้ประสบภัยต่างๆ ต่อไป

ข้อคิดที่ได้จากการสูญเสียครั้งนี้

"  แม้จะเสียขวัญ เสียทรัพย์สิน  เสียคนที่รัก  แต่ชีวิตของคนทุกคนก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป  เพื่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่ และเพื่อตัวเอง แม้จะรู้สึกท้อแท้หรืออ่อนแอแค่ไหน  ขอให้จงเข้มแข็ง และเก็บอดีตไว้เป็นบทเรียน  "





เอกสารอ้างอิง

            - http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/bo
ok.php?book=30&
                chap=8&page=t30-8-infodetail05.html 
                (สืบค้นเมื่อ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559)
      - http://www.ohochill.com/40289(สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559) 
      - http://www.guitarthai.com/webboard/question.aspQID=386036
          (สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559)